วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

มหาชาติ หรือ มหาเวสสันดรชาดก

 มหาชาติ  เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ที่ได้เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรและเป็นพระชาติสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  คนไทยรู้จักและคุ้ยเคยกับมหาชาติมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย  ดังที่ปรากฏในหลักฐานในจารึกนครชุม  และในสมัยอยุธยาก็ได้มีการแต่งและสวดมหาชาติคำหลวงในวันธรรมสวนะ  ส่วนการเทศน์มหาชาติเป็นประเพณีที่สำคัญในทุกท้องถิ่นและมีความเชื่อกันว่า  การฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียวจะได้รับอานิสงส์มาก

ผู้แต่ง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กวีสำนักวัดถนน
กวีวัดสังขจาย
(พระเทพโมลี (กลิ่น)

(เจ้าพระยาพระคลัง (หน)

ลักษณะคำประพันธ์
ความเรียงร้อยแก้ว  ร่ายยาว  กลบท  กลอนพื้นบ้าน
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อใช้ในการสวด  เทศนาสั่งสอน

ความเป็นมา
เวสสันดรชาดกนี้เป็นเรื่องใหญ่จัดรวมไว้ในมหานิบาตชาดกรวมเรื่องใหญ่ 
๑๐ เรื่อง
ที่เรียกกันว่า  ทศชาติ  แต่อีก เรื่อง  ไม่เรียกว่ามหาชาติ  คงเรียกแต่เวสสันดรชาดก
เรื่องเดียวว่า  มหาชาติ  ข้อนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
โปรดประทานอธิบายว่า  พุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดจนประเทศใกล้เคียงนับถือกันมาแต่โบราณว่า
เรื่องมหาเวสสันดรชาดก  สำคัญกว่าชาดกอื่น ๆ ด้วยปรากฏบารมีของพระโพธิสัตว์บริบูรณ์
ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง 
๑๐ บารมี

อานิสงส์การฟังเทศน์มหาชาติ  การตั้งใจฟังเทศน์มหาชาติให้จบเพียงวันเดียวครบบริบูรณ์  ทั้ง ๑๓ กัณฑ์จะเป็นเหตุให้สำเร็จความปรารถนาทุกประการดังนี้
          ๑.  เมื่อตายจากโลกนี้แล้ว  จะมีโอกาสได้พบพระพุทธเจ้า  พระนามว่า  ศรีอริยเมตไตย  ในอนาคต
          ๒.  เมื่อดับขันธ์ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์  จะเสวยทิพยสมบัติมโหฬาร
          ๓.  เมื่อตายไปแล้วจะไม่ตกนรก
          ๔.  เมื่อถึงยุคพระพุทธเจ้าพระนามว่า  ศรีอริยเมตไตย  จะได้จุติไปเกิดเป็นมนุษย์
          ๕.  ได้ฟังธรรมต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธองค์  จะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระอริยบุคคล  ในบวรพุทธศาสนา

มูลเหตุการณ์เล่าเรื่องมหาชาติ
          คัมภีร์ธัมมบทขุททกนิกายกล่าวว่า  เรื่องเวสสันดรชาดกเป็นพุทธดำรัสที่สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ขีณาสพสองหมื่นรูป  และพระประยูรญาติที่นิโครธารามหาวิหารในนครกบิลพัสดุ์  ในคราวเสด็จโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา  และพระวงศ์ศากยะบรรดาพระประยูรญาติไม่ปรารถนาจะทำความเคารพพระองค์  ด้วยเห็นว่าอายุน้อยกว่า
          พระองค์ทรงทราบความคิดนี้จึงทรงแสดงยมกปกฏิหาริย์  โดยเสด็จขึ้นเบื้องนภาอากาศแล้วปล่อยให้ฝุ่นละอองธุลีพระบาทตกลงสู่เศียรของพระประยูรญาติทั้งหลาย  พระประยูรญาติจึงได้ละทิ้งทิฐิแล้วถวายบังคมพระพุทธเจ้า  ขณะนั้นได้เกิดฝนโบกขรพรรษ  พระภิกษุทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์จึงได้ทูลถาม  พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าฝนชนิดนี้เคยตกมาแล้วในอดีต  แล้วจึงทรงแสดงธรรมเรื่องมหาเวสสันดรชาดก  หรือเรื่องมหาชาติให้แก่พระภิกษุและพระประยูรญาติ

          มหาเวชสันดรชาดก  เป็นชาดกที่มีความสำคัญมากกว่าชาดกอื่น ๆ เพราะพระบารมีของพระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบริบูรณ์ในพระชาตินี้  มหาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๐ บารมี  คือ

ทานบารมี  = ทรงบริจาคทรัพย์สิน  ช้าง  ม้า  ราชรถ  พระกุมารทั้งสองและพระมเหสี
ศีลบารมี  = ทรงรักษาศีลอย่างเคร่งครัดระหว่างทรงผนวชอยู่ ณ เขาวงกต
เนกขัมมบารมี  = ทรงครองเพศบรรพชิตตลอดเวลาที่ประทับ ณ เขาวงกต
ปัญญาบารมี  = ทรงบำเพ็ญภาวนามัยปัญญาตลอดเวลาที่ทรงผนวช
วิริยาบารมี  = ทรงปฏิบัติมิได้ย่อหย่อน
สัจจบารมี  = ทรงลั่นพระวาจายกกุมารให้ชูชก  เมื่อพระกุมารหลบหนีก็ทรงติดตามให้
ขันติบารมี  = ทรงอดทนต่อความยากลำบากต่าง ๆ ขณะที่เดินทางมายังเขาวงกต  และตลอดเวลาที่ประทับ ณ ที่นั่น  แม้แต่ตอนที่ทอดพระเนตรเห็นชูชกเฆี่ยนตีพระกุมารอย่างทารุณพระองค์ก็ทรงข่มพระทัยไว้ได้
เมตตาบารมี  = เมื่อพราหมณ์เมืองกลิงคราษฎร์  มาทูลขอช้างปัจจัยนาค  เนื่องจากเมืองกลิงคราษฎร์ฝนแล้ง  ก็ทรงพระเมตตตาประทานให้  และเมื่อชูชกมาทูลขอสองกุมาร  อ้างว่าตนได้รับความลำบากต่าง ๆ พระองค์ก็มีเมตตาประทานให้ด้วย
อุเบกขาบารมี  = เมื่อทรงเห็นสองกุมารถูกชูชกเฆี่ยนตี  วิงวอนให้พระองค์ช่วยเหลือ  ทรงบำเพ็ญอุเบกขา  คือทรงวางเฉย  เพราะทรงเห็นว่าได้ประทานเป็นสิทธิ์ขาดแก่ชูชกไปแล้ว
อธิษฐานบารมี  = คือทรงตั้งมั่นที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อให้สำเร็จโพธิญาณาเบื้องหน้าก็มิได้ทรงย่อท้อ  
จนพระอินทร์ต้องประทานความช่วยเหลือต่าง ๆ เพราะพระทัยอันแน่วแน่ของพระองค์

เนื้อเรื่อง
          หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหารย์  ทำให้พระประยูรญาติละทิฐิยอมถวายบังคม  ก็บังเกิดฝนโบกขรพรรษ  พระภิกษุทั้งหลายจึงได้ทูลถามพระพุทธเจ้า  พระพุทธองค์ตรัสเล่าว่า  ฝนชนิดนี้เคยตกมาแล้วในอดีต  พระองค์จึงทรงแสดงธรรมเรื่องมหาเวสสันดรชาดก   หรือเรื่องมหาชาติ  ทั้ง ๑๓ กัณฑ์  ตามลำดับ


(อ่านต่อในโพตส์ต่อไป)

กัณฑ์ที่ ๑ กัณฑ์ทศพร


ความย่อ
กล่าวถึงเหตุที่จะมีเรื่องเวสสันดรชาดกขึ้นกับเล่าเรื่องพระนางผุสดีในอดีตจนถึงทูลขอพร ๑๐ ประการ จากท้าวมัฆวารผู้ภัสดาพระนางผุสดีได้รับพรทิพย์ ๑๐ ประการ ในวันจะเกิดมาเป็นมารดาของพระเวสสันดร ณ เมืองสีพีราษฎร์

เนื้อเรื่อง
เมื่อครั้งอดีตกาลที่ล่วงมานครสีพีรัฐบุรีนั้นมีพระราชาพระนามสีพีราช ทรงครองเมืองโดยทศพิธราชธรรมพระราชาทรงยกบัลลังก์ให้พระโอรสขึ้นเสวยราชย์แทน เมื่อเจริญวัยสมควรแล้วพระราชโอรสมีพระนามว่า "สัญชัย" และได้อภิเษกกับพระนางผุสดีพระธิดาแห่งราชากรุงมัททราช
พรจากภพสวรรค์แต่ปางก่อนนั้นผุสดีเทวีเสวยชาติเป็นอัครมเหสีของพระอินทร์เมื่อจะสิ้นพระชนมายุจึงขอกัณฑ์ทศพรจากพระอินทร์ได้ ๑๐ ข้อทั้งยังเคยโปรยผงจันทร์แดงถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้าและอธิฐานให้ได้เกิดเป็นมารดาพระพุทธเจ้าด้วย พร ๑๐ ข้อนั้นมีดังนี้
๑.ขอให้เกิดในกรุงมัททราช แคว้นสีพี
๒.ขอให้มีดวงเนตรคมงามและดำขลับดั่งลูกเนื้อทราย
๓.ขอให้คิ้วคมขำดั่งสร้อยคอนกยูง
๔. ขอให้ได้นาม "ผุสดี" ดังภพเดิม
๕.ขอให้มีพระโอรสเกริกเกียรติที่สุดในชมพูทวีป
๖. ขอให้พระครรภ์งามไม่ป่องนูนดั่งสตรีสามัญ
๗. ขอให้พระถันเปล่งปลั่งงดงามไม่ยานคล้อยลง
๘.ขอให้เส้นพระเกศาดำขลับตลอดชาติ
๙.ขอให้ผิดพรรณละเอียดบริสุทธิ์ดุจทองคำธรรมชาติ
๑๐.ขอให้ได้ปลดปล่อยนักโทษที่ต้องอาญาประหารได้

อานิสงส์
ผู้ใดบูชากัณฑ์ทศพร ผู้นั้นจะได้รับทรัพย์สมบัติดังปรารถนาถ้าเป็นสตรีจะได้สามีเป็นที่ชอบเนื้อเจริญใจบุรุษจะได้ภรรยาเป็นที่ต้องประสงค์อีกเช่นเดียวกันจะได้บุตรหญิงชายเป็นคนว่านอนสอนง่ายมีรูปกายงดงามมีความประพฤติดีกิริยาเรียบร้อยทุกประการฯ

ข้อคิดประจำกัณฑ์
การทำบุญจักให้สำเร็จสมประสงค์ต้องอธิษฐานจิตตั้งเป้าหมายชีวิตที่ตนปรารถนาไว้ ความปรารถนาที่จะสำเร็จสมดังตั้งใจผู้นั้นต้องมีศีลบริบูรณ์ กล่าวคือ
๑. ต้องกระทำความดี
๒.ต้องรักษาความดีนั้นไว้
๓. หมั่นเพิ่มพูนความดีให้มากยิ่งขึ้น

กัณฑ์ที่ ๒ กัณฑ์หิมพานต์

ความย่อ
         กล่าวถึงปฏิสนธิพระนาง ไปจนถึงพราหมณ์เมืองกลิงครัฐ ๘ คน มาทูลขอพญาช้างปัจจัยนาคจากพระเวสสันดรพระเวสสันดรพระราชทานให้ ทำให้ชาเมืองแค้นเคืองใจพากันเดินขบวนประท้วงทูลพระราชบิดาให้เนรเทศพระเวสสันดรไปอยู่เขาวงกตหรือประหารด้วยท่อนจันทน์

เนื้อเรื่อง
ได้มาเกิดเป็นอัครชายาของพระราชาแคว้นสีพีรัฐสมดั่งคำพระอินทร์นั้นพระนางยังมีพระสิริโฉมงดงามตามคำพรอีกด้วย ครั้งเมื่อทรงพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือนพระอินทร์ก็ทูลอาราธนาพระโพธิสัตว์มาจุติในครรภ์พระนางประสูติพระกุมารวันหนึ่งพระนางผุสดีทรงทูลขอพระราชาประพาสพระนครเมื่อขึ้นสีวิกาเสลี่ยงทองเสด็จสัญจร ไปถึงตรอกทางของเหล่าพ่อค้าก็เกิดปวดพระครรภ์และทรงประสูติพระราชาโอรสกลางตรอกนั้น พระราชกุมารจึงได้พระนามว่า "เวสสันดร" ในวันที่พระราชกุมารทรงประสูติพญาช้างฉัททันต์ได้นำลูกช้างเผือกเข้ามาในโรงช้างต้นช้างเผือกคู่เผือกคู่บารมีนั้นมีนามว่า "ปัจจัยนาเคนทร์" พระราชกุมารเวสสันดรทรงบริจาคทานตั้งแต่ ๔-๕ ชันษา ทรงปลดปิ่นทองคำและเครื่องประดับเงินทองแก้วเพชรให้แก่นางสนมกำนัลทั่วทุกคนถึง ๙ ครั้งเพื่อมุ่งหวังพระโพธิญาณภายภาคหน้า เมื่อทรงเจริญชันษาได้ ๙ ปีก็ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่าจะบริจาคเลือดเนื้อและดวงหทัยเพื่อมุ่งพระโพธิญาณในกาลข้างหน้าอย่างแน่วแน่ครั้นถึงวัย ๑๖ พรรษาก็แตกฉานในศิลปวิทยา ๑๘ แขนง ทรงได้ขึ้นครองราชย์และอภิเษกกับพระนางมัทรีและมีพระโอรสกับพระธิดาพระนามว่า “ชาลีกุมาร และ “กัณหากุมารี” อันหมายถึงห่วงทองบริสุทธิ์เวลาต่อมาเมืองกลิงครัฐเกิดกลียุคฝนแล้งผิดฤดูกาลข้าวยากหมากแพงเป็นที่ยากเข็ญทุกข์ร้อนไปทั่วชาวนครมาชุมนุมร้องทุกข์หน้าวังกันแน่นขนัด พระเจ้ากลิงคราชจึงทรงถือศีล ๗ วันเพื่อขอบุญกุศลช่วย ทว่าฝนฟ้าก็ยังแล้งหนักอำมาตย์จึงทูลให้ทรงขอช้างเผือกแก้วปัจจัยนาเคนทร์ของพระเวสสันดรด้วยว่าพระเวสสันดรกษัตริย์สีพีรัฐนั้นขี่ช้างคู่บารมีไปหนใดก็มีฝนโปรยปรายชุ่มชื้นไปทั่วแคว้นพระเจ้ากลิงคราชจึงส่ง ๘ พราหมณ์ไปทูลขอช้างแก้วจากพระเวสสันดรเมื่อได้ช้างแก้วจากพระเวสสันดรแล้วพราหมณ์ก็ขี่ช้างออกจากกรุง บรรดาชาวนครเห็นช้างพระราชาก็กรูกันเข้าล้อมและตะโกนด่าทอจะทำร้ายพราหมณ์ทั้ง ๘ คนแต่พราหมณ์ตวาดตอบว่าพระเวสสันดรพระราชทานช้างให้พวกตนแล้ว เมื่อพราหมณ์นำช้างแก้วไปถึงเมืองฝนฟ้าก็โปรยปรายลงมาเป็นที่ยินดีทั้งแคว้นแต่ในกรุงสีพีนั้นกลับอลหม่านมหาชนต่างมาชุมนุมที่หน้าพระลานร้องทุกข์พระเจ้ากรุงสัญชัยว่าพระเวสสันดรยกพระยาคชสารคู่บ้านเมืองให้คนอื่น ผิดราชประเพณีเกรงว่าอีกต่อไปภายหน้าอาจยกเมืองให้คนอื่นก็ได้ขอให้เนรเทศพระเวสสันดรออกจากนครเถิด

อานิสงส์
ผู้ใดบูชากัณฑ์หิมพานต์ย่อมได้สิ่งปรารถนาทุกประการครั้นตายแล้วได้ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เสวยสมบัติอันมโหฬารมีบริวารแวดล้อมบำรุงบำเรออยู่เป็นนิตย์จุติจากสวรรค์แล้วจะลงมาเกิดในตระกูลขัตติยะมหาศาล หรือตระกูลพราหมณ์มหาศาลอันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงคาร บริวารมากมายนานาประการ เช่น โค กระบือ ช้าง ม้า รถยานพาหนะจะนับจะประมาณมิได้ประกอบด้วยสุขกายสบายใจทุกอิริยาบถฯ

ข้อคิดประจำกัณฑ์
๑.คนดีเกิดมานำพาโลกให้ร่มเย็น
๒. โลกต้องการผู้เสียสละมิฉะนั้นหายนะจะบังเกิด
๓. การทำดีย่อมมีอุปสรรค "มารไม่มีบารมีไม่มามารยิ่งมาบารมียิ่งแก่กล้า"
๔. จุดหมายแห่งการเสียสละอยู่ที่พระโพธิญาณมิหวั่นไหวแม้จะได้รับทุกข์

กัณฑ์ที่ ๓ กัณฑ์ทานกัณฑ์


ความย่อ
         กล่าวถึงพระราชมารดา รับอาสาไปทูลวิงวอนขอโทษพระเจ้ากรุงสัญชัยให้ทรงลดหย่อนผ่อนโทษแต่ไม่สำเร็จ จากนั้นพระเวสสันดรทรงบำเพ็ญมหาทาน เรียกว่า "สัตตสดกมหาทาน" แล้วทูลลาพระชนกชนนี ทรงขึ้นราชรถเวียนรอบเมือง มีพราหมณ์ ๔คนมาทูลขอม้าและราชรถพระองค์ก็เปลื้องปลดพระราชทานให้

เนื้อเรื่อง
          พระเจ้ากรุงสัญชัยจำต้องเนรเทศพระราชโอรสด้วยเสียพระทัยนักพระนางผุสดีทูลขออภัยโทษก็มิเป็นผลสำเร็จ พระเวสสันดรทูลลาพระมารดาพระบิดาและขอบริจาคทานให้พิธีสัตตสตกมหาทาน คือ ช้าง ม้า โคนม รถม้า ทาสและทาสี อย่างละ๗๐๐ บริจาคให้คนทั่วไปสัตตสตกมหาทานนั้น คือ ช้าง ๗๐๐ เชือก ม้า ๗๐๐ ตัว โคนม๗๐๐ ตัว รถม้า ๗๐๐ คัน นารี ๗๐๐ นาง ทาส ๗๐๐ คน ทาสี ๗๐๐ คน ผ้าอาภรณ์ ๗๐๐ชิ้น เสด็จออกจากนครพระนางมัทรีพาพระโอรสและพระธิดาตามเสด็จออกป่าด้วยมิทรงยอมอยู่ในวังแม้พระเวสสันดรจะยับยั้งห้ามปรามมิให้มาตกระกำลำบากด้วยกันในป่าระหว่างทางที่เสด็จขึ้นราชรถทองไปนั้นมีพราหมณ์วิ่งมาทูลขอม้าบ้าง ขอราชรถบ้าง พระเวสสันดรก็ยกให้ทั้งสิ้นในที่สุดจึงต้องทรงอุ้มพระโอรสและพระธิดาเสด็จเข้าป่าไป

อานิสงส์
ผู้ใดบูชากัณฑ์ทานกัณฑ์จะบริบูรณ์ด้วยแก้วแหวนเงินทอง ทาส ทาสี และสัตว์สองเท้าสี่เท้าครั้นตายแล้วจะได้ไปเกิดในฉกามาพจรสวรรค์ มีนางเทพอัปสรแวดล้อมมากมายเสวยสุขอยู่ในปราสาทสร้างด้วยแก้ว ๗ ประการ

ข้อคิดประจำกัณฑ์
๑.ความรักของแม่ ความห่วงของเมีย
๒.โทษทัณฑ์ของการเป็นหม้าย คือถูกประนามหยามหมิ่นอาจถึงจบชีวิตด้วยการก่อกองไฟให้รุ่งโรจน์แล้วโดดฆ่าตัวตาย
๓.เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม พึงยอมเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัว
๔. ยามบุญมีเขาก็ยกยามตกต่ำเขาก็หยาม ชีวิตมีทั้งชื่นบานและขื่นขม

กัณฑ์ที่ ๔ กัณฑ์วนประเวศน์

ความย่อ
กล่าวถึงพระเวสสันดร มัทรี ชาลี กัณหา เสด็จมุ่งสู่ป่าเขาคีรีวงกต โดยอาศัยไมตรีจิตมิตรกษัตริย์ เมืองเจตราชทูลระยะทาง จนกระทั่งถึง ทั้งสี่พระองค์ทรงบำเพ็ญพรตอยู่ในนั้นเป็นเวลา ๗ เดือน กษัตริย์เจตราชแต่งตั้งพรานเจตบุตรเป็นผู้อยู่คอยพิทักษ์รักษาสวัสดิภาพของพระเวสสันดร
เนื้อเรื่อง
เมื่อเสด็จด้วยพระบาทถึงเมืองเจตรัฐ พระราชาเสด็จมาต้อนรับและทูลเชิญให้ครองเมืองเจตรัฐนั้น แต่พระเวสสันดรขอไปบำเพ็ญเพียรในป่า กษัตริย์เจตรัฐจึงรับสั่งให้เจตบุตรคอยอารักขาในป่า และถวายน้ำผึ้งและเนื้อให้พระเวสสันดรด้วย เมื่อพระเวสสันดรเดินทางมาถึงเขาวงกต พระนางมัทรีและชาลีกุมาร กัณหากุมารีต่างก็เหน็ดเหนื่อยสะอื้นไห้ด้วยความลำบากยากเข็ญ พระเวสสันดรจึงทรงเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นนุ่งห่มของนักบวช พระนางมัทรีก็ทรงบวชเป็นดาบสินี บำเพ็ญศีลกันในป่าอยู่ที่อาศรม พระนางมัทรีต้องปัดกวาดอาศรมทุกวันแล้วก็หาผลไม้ในป่า ตักน้ำมาเตรียมไว้ ในป่านั้นอุดมด้วยผลไม้นานาชาติ มีสระโบกขรณีน้ำสะอาดใสไหลเย็น มีพฤกษาร่มรื่นและมีดอกไม้หอมหวลทั่วทั้งป่าราวกับวิมานทิพย์

อานิสงส์
ผู้ใดบูชากัณฑ์เทศน์วนประเวศน์จะได้รับความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า จะได้เป็นบรมกษัตริย์ในชมพูทวีปเป็นผู้ทรงปรีชา เฉลียวฉลาด สามารถปราบอริราชศัตรูให้ย่อยยับไปฯ

ข้อคิดประจำกัณฑ์
๑. ยามเห็นใจ ยามจน ยามเจ็บ ยามจากเป็นยามที่ควรจะได้รับความเหลียวแล
๒. ผลดีของมิตรแท้ คือ ไม่ทอดทิ้งในยามเพื่อนทุกข์ ช่วยอุ้มชูยามเพื่อนอ่อนล้า ช่วยฉุดดึงยามเพื่อนตกต่ำ
๓. น้ำใจของคนดี หากรู้ชัดว่าปกติสุขของคนส่วนมากจะตั้งอยู่ได้ เพราะการเสียสละของตน ก็สมัครสลัดโอกาสและโชคลาภอันจะพึงได้ ด้วยความชื่นชม

กัณฑ์ที่ ๕ กัณฑ์ชูชก

ความย่อ
กล่าวถึงเฒ่าชราตาชูชก ได้เร่ร่อนขอทาบแล้วนำเงินไปฝากเพื่อนไว้ แต่เพื่อนก็นำเงินไปใช้จนหมด เมื่อชูชกไปทวงจึงไม่มีจะให้ จึงยกนางอมิตตดาธิดาสาวให้แทน นางปฏิบัติต่อสามีดี จนเป็นเหตุให้พราหมณีเพื่อนบ้านพากันอิจฉาด่าว่าตบตี เลยไม่ยอมทำงานนอก และแนะให้เฒ่าชูชกไปทูลขอสองกุมารมาเป็นข้าทาสรับใช้

เนื้อเรื่อง
ชูชก ขอทานเฒ่าอีกด้านหนึ่งนั้น พราหมณ์นาม "ชูชก" ได้เที่ยวขอทานเก็บเงินได้ถึง ๑๐๐ กษาปณ์ จึงนำเงินไปฝากเพื่อนไว้พลางคุยอวดเศรษฐีอย่างปีตินัก จากนั้นก็ออกเดินทางตระเวนขอเงินสืบไป ส่วนพราหมณ์ผัวเมียเก็บเงินไว้นานแล้ว เห็นว่าชูชกไม่มาเอาสักที คิดว่าชูชกคงจะตายไปแล้ว จึงชวนกันนำเงินนั้นออกมาใช้จ่ายเสียจนหมดทั้งสิ้น ครั้นชูชกหวนกลับมาทวงเอาเงิน สองผัวเมียก็ตกใจงันงกมิรู้จะทำประการใด ด้วยความที่กลัวชูชกจะเอาความ จึงตกลงจะยกนางอมิตดาลูกสาวให้แก่ชูชกแทนเงินที่ใช้หมดไป นางอมิตดามีรูปงามและวัยสาว ส่วนชูชกนั้นเฒ่าชราและมีรูปลักษณ์อุบาทว์อัปลักษณ์ยิ่งนัก เมื่อชูชกพานางอมิตดาไปอยู่กินด้วยกันที่หมู่บ้านทุนวิฐ พวกเมียพราหมณ์บ้านอื่นต่างพากันริษยาอิจฉานางอมิตดา พราหมณ์ทั้งหมู่บ้านก็ชื่นชมนางอมิตดาจนมาทุบตีเมียตนกันทุกวัน ด้วยเพราะนางอมิตดานั้นเป็นบุตรกตัญญู เมื่อมาอยู่กับชูชกก็ปรนนิบัติรับใช้ทุกประการมิให้ขาดตกบกพร่อง วาจาก็ไพเราะมิเคยขึ้นเสียงเหล่าเมียของพราหมณ์จึงมาดักนางอมิตดาที่ท่าน้ำ รุมด่าว่านางอมิตดาที่มาเป็นเมียชูชกน่าเกลียดตัวเหม็นน่าขยะแขยง ยอมรับใช้ตาเฒ่าทุกอย่างน่าสมเพช นางอมิตดาถูกรุมด่าก็หิ้วหม้อน้ำร้องไห้กลับบ้าน บอกแก่ชูชกว่าจะไม่ไปตักน้ำและไม่ทำงานบ้านอีกแล้ว ขอให้ชูชกไปทูลขอกัณหาชาลี จากพระเวสสันดรมาช่วยงานบ้านก็แล้วกัน ด้วยความรักภรรยา เฒ่าชูชกจึงเตรียมข้าวตู และถั่วงาใส่ย่ามออกเดินทางไปยังเขาวงกตทันทีในระหว่างเดินทาง ตาเฒ่าชูชกแวะเวียนถามชาวบ้านว่า พระเวสสันดรเสด็จประทับอยู่ ณ ที่แห่งใด พวกชาวบ้านต่างก็ขว้างอิฐหินเข้าใส่ขอทานเฒ่า แล้วขับไล่ด้วยถ้อยคำหยาบคายต่าง ๆ ว่าเป็นไอ้พวกจัญไร มักขอเอาทุกอย่างจนพระเวสสันดรตกระกำลำบาก เฒ่าชูชกเดินดุ่มเข้าป่าไปเจอสุนัขของเจตบุตรที่อารักขาป่า สุนัขต่างวิ่งกรูเข้าไล่กัดขอทานเฒ่า จนต้องวิ่งขึ้นต้นไม้ด้วยตกใจเสียขวัญ

อานิสงส์
ผู้ใดบูชากัณฑ์ชูชกจะได้บังเกิดในตระกูลกษัตริย์ ประกอบด้วยสมบัติ อันงดงามกว่าชนทั้งหลายจะเจรจาปราศรัยก็ไพเราะเสนาะโสต แม้จะได้สามีภรรยาและบุตรธิดาก็ล้วนแต่มีรูปทรงงดงามสอนง่าย

ข้อคิดประจำกัณฑ์
๑.ของที่รักและหวงแหน ที่โบราณห้ามฝากผู้อื่นไว้คือ เงิน ม้า เมีย ยิ่งน้องเมียห้ามฝากเด็ดขาด อันตรายมาก
๒.ภรรยาที่ดีย่อมไม่ย่อหย่อนต่อหน้าที่ ข้าวดำ น้ำตัก ฟืนตอหักหา น้ำร้อน น้ำชาเตรียมไว้เสร็จ
๓.ของไม่คู่ควรย่อมมีปัญหา ตำราหิโตปเทศกล่าวว่า "ความรู้เป็นพิษเพราะเหตุที่ไม่ใช้ อาหารเป็นพิษเพราะเหตุไฟธาตุไม่ย่อย เมียสาวเป็นพิษเพราะผัวแก"

กัณฑ์ที่ ๖ กัณฑ์จุลพน


ความย่อ
กล่าวถึงชูชกเดินทางไปเขาวงกต พบพรานเจตบุตร ชุชกใช้กลอุบายหลอกว่าเป็นราชทูตของพระเจ้ากรุงสัญชัย พร้อมชูกลักพริก กลักขิงเสบียงกรังที่นางอมิตตดาจัดหาให้ ว่าเป็นพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงสัญชัย จนพรานเจตบุตรหลงเชื่อ จึงชี้บอกทางให้ไปจนถึงอาศรมบทของพระอัจจุตฤาษี
เนื้อเรื่อง
พรานเจตบุตรผู้มีรูปร่างกำยำไว้หนวดแดงหน้าตาถมึงทึง ก็ถือหน้าไม้อาบยาพิษมาหาชูชกหมายจะฆ่าให้ตาย ตามคำสั่งกษัตริย์เจตรัฐ เฒ่าชูชกเจ้าเล่ห์คิดอุบายเอาตัวรอดจึงตัวสั่นงันงกรีบร้องว่า ตนเองเป็นราชทูตของพระราชา มาทูลเชิญเสด็จพระเวสสันดรกลับวัง เพราะพระราชาทรงอภัยโทษแล้ว พรานเจตบุตรได้ยินก็ดีใจจึงเชื่อคำเท็จนั้น จึงจัดเสบียงเพิ่มให้ชูชกและชี้ทางให้อีกด้วย

อานิสงส์
ผู้ใดบูชากัณฑ์จุลพน แม้จะบังเกิดในปรภพใด ๆ จะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติบริวาร จะมีอุทยานอันดารดาษด้วยดอกไม้หอมตลบไป แล้วจะมีสระโบกขรณีอันเต็มไปด้วยปทุมชาติ ครั้นตายไปแล้วก็ได้เสวยทิพยสมบัติในโลกหน้าสืบไปฯ

ข้อคิดประจำกัณฑ์
๑. มีอำนาจหากขาดปัญญาย่อมถูกหลอกได้ง่าย
๒. คนโง่ย่อมเป็นเหยื่อของคนฉลาด
๓. ไว้ใจทาง วางใจคน จะจนใจตัว

กัณฑ์ที่ ๗ กัณฑ์มหาพน


ความย่อ
กล่าวถึงชูชกเดินทางไปพบพระอัจจุตฤาษี ได้หลอกลวงพระฤาษีให้หลงกลว่าเป็นกัลยาณมิตรของพระเวสสันดร จนได้พักค้างคืนกับพระฤาษี รุ่งขึ้นพระฤาษีได้ให้กินผลไม้ และชี้ให้ชมเขาลำเนาไพรพร้อมบอกระยะทางสภาพป่า และหนทางที่จะไปสู่เขาวงกตให้แก่ชูชก ซึ่งประกอบไปด้วย เขาใหญ่ สระน้ำ และสัตว์ป่านานาชนิด

เนื้อเรื่อง
เฒ่าชูชกเดินทางไปกลางป่า พบฤาษีอัตจุตก็เล่าความเท็จอีก ฤาษีจึงยอมชี้ทางไปอาศรมของพระเวสสันดร เมื่อไปถึงเป็นเวลาพลบค่ำ เฒ่าชูชกก็ซ่อนตัวบนชะง่อนเขาด้วยคิดว่า ต้องรอรุ่งเช้าให้พระนางมัทรีออกไปหาผลไม้ เพราะนางคงไม่ยอมยกลูกให้ใครแน่

อานิสงส์
ผู้ใดบูชากัณฑ์มหาพน จะได้เสวยสมบัติในดาวดึงส์เทวโลกนั้น แล้วจะได้ลงมาเกิดเป็นกษัตริย์มหาศาล มีทรัพย์ศฤงคารบริวารมาก มีอุทยานและสนระโบกขรณีเป็นที่ประพาส เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยศักดานุภาพเฟื่องฟุ้งไปทั่วชมพูทวีป อีกทั้งจักได้เสวยอาหารทิพย์เป็นนิจนิรันดรฯ

ข้อคิดประจำกัณฑ์
๑. ฉลาดแต่ขาดเฉลียว มีปัญญาแต่ขาดสติก็เสียทีพลาดท่าได้
๒. สงสารฉิบหาย เชื่อง่ายเป็นทุกข์
๓. คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ ซื้อเสื่อให้ดูลาย

กัณฑ์ที่ ๘ กัณฑ์กุมาร


ความย่อ
กล่าวถึงชูชกเดินทางถึงอาศรมของพระเวสสันดร ได้หยุดพักผ่อนที่คาคบไม้ ๑ ราตรี รุ่งขึ้นเมื่อนางมัทรีเข้าป่าหาผลไม้แล้ว ชูชกจึงเข้าเฝ้าทูลขอพระชาลีและกัณหา ก็ทรงประทานให้ สองกุมารได้ยิน จึงตกใจกลัวหนีไปซ่อนตัวอยู่ในสระ พระเวสสันดรได้ขอร้องให้ทั้งสองพระองค์ออกมา แล้วชูชกก็นำทั้งสองพระองค์ไป

เนื้อเรื่อง
เคราะห์ร้ายมาถึงและในคืนนั้นเอง พระนางมัทรีทรงสุบินร้ายว่า มีบุรุษผิวดำร่างสูงใหญ่นุ่งผ้าย้อมฝาด สองหูทัดดอกไม้แดง มือถือดาบใหญ่ ตรงเข้าจิกพระเกศาแล้วแทงดาบใส่ดวงพระเนตร ควักดวงตาออกไปทั้งสองข้าง จากนั้นกรีดพระอุระควักเอาพระทัยไปทั้งดวง พระนางร้องลั่นสะดุ้งตื่นบรรทมพระวรกายสั่นสะท้าย รีบไปหาพระเวสสันดรเพื่อจะให้ทำนายฝัน แต่เมื่อเข้าไปในอาศรมพระเวสสันดรก็ตรงตรัสว่า "น้องหญิงจงเล่าความอยู่ที่ข้างนอกเถิด" พระนางมัทรีทรงทูลเล่าพระสุบินนั้นพระทัยสั่น พระเวสสันดรทรงทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นในรุ่งเช้า แต่ทรงตรัสแก่พระนางว่าเป็นความตรากตรำลำบาก จึงทำให้เกิดธาตุวิปริตดังนี้ เมื่อรุ่งเช้าพระนางมัทรีมีลางสังหรณ์ไม่อยากเสด็จเข้าป่า จึงตรัสสั่งพระโอรสและธิดาให้อยู่ใกล้ ๆ เสด็จพ่อ ครั้นพระนางมัทรีไปแล้ว เฒ่าชูชกจึงรีบเข้าไปยังบริเวณอาศรมทันที เมื่อพระกุมารชาลีเข้าไปถามต้อนรับ ชูชกสังเกตรู้ว่าพระกุมารเป็นเด็กฉลาด จึงทรงร้องตวาดไล่ไปด้วยหวังจะข่มให้กลัวแล้วหนีไป แล้วเฒ่าชูชกก็เข้าเฝ้าพระเวสสันดร พยายามอ้างถึงความลำบากยากเข็ญนานาประการ ในการเดินทางฝ่าอันตรายมาถึงป่านี้ ก็เพื่อขอปิยบุตรไปช่วยงานที่บ้าน เนื่องจากตนจนยากไม่มีเงินซื้อทาสได้ พระเวสสันดรทรงตรัสอนุญาต ชาลีกุมารแอบได้ยินจึงพาน้องสาวไปซ่อนที่ใต้ใบบัวข้างสระน้ำเฒ่าชูชกเห็นเด็กทั้งสองหายไป ก็แกล้งติเตียนตัดพ้อพระเวสสันดรด้วยคำบริภาษว่า "ไหนล่ะที่พระองค์บริจาคทาน ปากยกให้แต่ไหนละเด็กร้ายทั้งสองคงจะคิดหนีไปแล้ว พระองค์มิได้มีจิตบริจาคทานตามที่ลั่นสัจจะไว้เลย" เมื่อสดับดังนั้น พระเวสสันดรจึงทรงเสด็จออกตามหาทั่วบริเวณชาลีราชกุมารมิอยากให้พระราชบิดาออกร้องเรียก
นานไป จึงจูงน้องออกมา พระเวสสันดรขอให้กัณหา ชาลี ติดตามเฒ่าชูชกไปเถิด แต่ให้รอร่ำลาพระนางมัทรีก่อน เฒ่าชูชกไม่ยอมฟัง รีบหาเชือกเถาวัลย์มาผูกมัดพระโอรสพระธิดา แล้วเอาหวายเฆี่ยนตีต่อหน้าพระเวสสันดร พลางฉุดกระชากลากไปอย่างโหดเหี้ยม
กัณหา ชาลี ถูกตีรุนแรงก็ร่ำไห้หาพระบิดาพระมารดา พระเวสสันดรทรงกันแสง แต่ก็ตั้งมั่นในสัจจะที่พระองค์ตั้งจิตไว้ ก่อนไปนั้นชูชกว่า ถ้าจะไถ่ตัวกันหาชาลีได้ต้องให้ ทาส ทาสี ช้าง ม้า โคนม ทองคำ สิ่งละ ๑๐๐ แก่ชูชก ครั้นเมื่อเฒ่าร้ายนำตัวพระกุมารและกุมารีไปแล้ว ก็ให้เกิดอัศจรรย์ดินฟ้าวิปโยคครืนครั่น ฟ้าผ่าน่าสะพรึงกลัวไปทั่วป่าหิมพานต์

อานิสงส์
ผู้ใดบูชากัณฑ์กุมาร ย่อมประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา ครั้นตายไปได้เกิดในฉกามาพจรสวรรค์ในสมัยพระศรีอาริยเมตไตรยมาอุบัติ ก็จะได้พบศาสนาของพระองค์จะได้ถือปฏิสนธิในตระกูลกษัตริย์ ตลอดจนได้สดับฟังพระสัทธรรมเทศนาของพระองค์ แล้วบรรลุพระอรหันตผล พร้อมปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ด้วยบุญราศีที่ได้อบรมไว้ฯ

ข้อคิดประจำกัณฑ์
๑. ความเป็นผู้รู้จักกาลเทศะ ไม่ผลีผลามเข้าไปขอรอจนพระมัทรีเข้าป่าจึงเข้าเฝ้า เพื่อของสองกุมาร เป็นเหตุให้ชูชกประสบผลสำเร็จใจสิ่งที่ตนปรารถนา ดังภาษิตโบราณว่า "ช้า ๆ จะได้พร้าเล่มงาม ด่วนได้สามผลามมักพลิกแพลง" ช้าเป็นการนานเป็นคุณ ผู้รู้จักโอกาส มีมารยาท กล้าหาญ ใจเย็น เป็นสำเร็จ
๒. พ่อแม่ทุกคนรักลูกเหมือนกัน แต่เป็นห่วงไม่เท่ากัน ห่วงหญิงมากกว่าห่วงชาย เพราะท่านเปรียบไว้ว่า "ลูกหญิงเหมือนข้าวสาร ลูกชายเหมือนข้าวเปลือก"
๓. สติ เตสัง นิวารณัง สติเป็นเครื่องป้องกันอันตรายทั้งปวงได้ ขันติ สาหสวารณา ขันติป้องกันความหุนหันพลันแล่นได้ เป็นเหตุให้พระเวสสันดรไม่ประหารชูชกด้วยพระขรรค์ เมื่อถูกชูชกประนาม
๔. วิสัยหญิงนั้น แม้จะมากอยู่ด้วยเมตตากรุณา ชอบปลดเปลื้องทุกข์แก่ผู้อื่นก็จริงอยู่ แต่เว้นอย่างเดียว ที่ผู้หญิงนั้นไม่มีวันจะสละสิ่งนั้น คือ "ลูก"

กัณฑ์ที่ ๙ กัณฑ์มัทรี


ความย่อ
กล่าวถึงพระนางมัทรีเข้าป่าหาผลไม้ แล้วเจอเหตุการณ์มหัศจรรย์ต่าง ๆ จึงเดินทางกลับอาศรม ก็เกิดพายุใหญ่ มืดครึ้มไปทั่วบริเวณ อีกทั้งยังมีสิงห์สาราสัตว์ร้าย มาขวางทางไว้ เมื่อมาถึงอาศรมได้ทราบความ ทำให้พระองค์เสียพระทัยมาก จนสลบไป หลังจากฟื้นคืนสติกลับมา พระนางก็อนุโมทนากับพระเวสสันดรด้วย

เนื้อเรื่อง

รุ่งเช้าพระนางมัทรี เข้าป่าหาผลไม้ "เกิดเหตุแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ผลไม้เผือกมันช่างหายากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงมัน ลูกจันทน์ ลิ้นจี่ น้อยหน่า สาลี่ ละมุด พุทรา ไม่มีให้เก็บเหมือนดังกับวันก่อน นางรีบย้อนกลับเคหา ก็เกิดพายุใหญ่ จนมืดครึ้มไปทั่วทั้งป่า ท้องฟ้าสีแดงปานเลือดละเลง ทั้งแปดทิศปรากฎมืดมนไปหมดอย่างไม่เคยมี พระนางทรงห่วงหน้าพะวงหลัง เกรงจะมีภัยแต่พระเวสสันดรา กัณหาและชาลีพระนางมัทรีรีบยกหาบใส่บ่ารีบเดินทาง พอถึงช่องแคบระหว่างเขาคีรี เป็นตรอกน้อยรอยวิถีทางที่เฉพาะจะต้องเสด็จผ่าน ก็พบกับสองเสือสามสัตว์มานอนสกัดหน้า เทวดาสามองค์แปลงร่างเป็นราชสีห์ เสือเหลือง เสือโคร่งสกัดทางนางไว้เพื่อมิให้พระนางมัทรีติดตามกัณหา ชาลีได้ทัน แต่ถึงกระนั้น เมื่อยามทุกข์เข้าบีบคั้น ความรักลูก ความห่วงพระภัสดา พระนางจึงก้มกราบวิงวอน ขอหนทางต่อพญาสัตว์ทั้งสาม เมื่อได้หนทางแล้ว พระนางก็รีบเสด็จกลับอาศรมเมื่อมาถึงอาศรม ไม่พบกัณหา ชาลี พระนางก็ร้องเรียกหาว่า"ชาลี กัณหา แม่มาถึงแล้ว เหตุไฉนไยพระลูกแก้ว จึงไม่มารับเล่าหลากแก่ใจ แต่ก่อนร่อนชะไรสิพร้อมเพรียง เจ้าเคยวิ่งระรี่เรียงเคียงแข่งกันมารับพระมารดา เคยแย้มสรวลสำรวจร่า ระรื่นเริงรีบรับเอาขอคาน แล้วก็พากันกราบกรานพระชนนี พ่อชาลี ก็จะรับเอาผลไม้ แม่กัณหาก็จะอ้อนวอนไหว้จะเสวยนม ผทมเหนือพระเพลาพลาง เจ้าเคยฉอเลาะแม่ต่าง ๆ ตามประสาทารกเจริญใจฯ" บัดนี้ลูกรักทั้งคู่ไปไหนเสีย จึงมิมารับแม่เล่า ครั้นเข้าไปถามพระเวสสันดรก็ถูกตัดพ้อต่อว่าต่าง ๆ จนพระนางมัทรีถึงวิสัญญีภาพสลบลง พระเวสสันดรทรงปฐมพยาบาลจนพระนางมัทรีฟื้น แล้วจึงแจ้งความจริงว่า พระองค์ได้ทรงยกลูกรักชายหญิงทั้งสอง มอบให้แก่ชูชกไปแล้วตั้งแต่เมื่อวาน พระนางก็อนุโมทนาซึ่งทานนั้นด้วย

อานิสงส์
ผู้ใดบูชากัณฑ์มัทรี เกิดในโลกหน้าจะเป็นผู้มั่งคั่ง สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ เป็นผู้มีอายุยืนยาว ทั้งประกอบด้วยรูปโฉมงดงามกว่าคนทั้งหลายจะไปในที่แห่งใดก็จะมีแต่ความสุขความเจริญทุกหนแห่ง

ข้อคิดประจำกัณฑ์
ลูกคือแก้วตาดวงใจของผู้เป็นพ่อแม่ "ลูกดีเป็นที่ชื่นใจของพ่อแม่ ลูกแย่พ่อแม่ช้ำใจ" รักใครเล่าจะเท่าพ่อแม่รัก ห่วงใดเล่าจะเท่าพ่อแม่ห่วง หวงใดเล่าจะเท่าพ่อแม่หวง ให้ใครเล่าจะเท่าพ่อแม่ให้ เพราะฉะนั้นพึงเป็นลูกแก้ว ลูกขวัญ ลูกกตัญญู ที่ชาวโลกชื่นชม พรหมก็สรรเสริญฯ

กัณฑ์ที่ ๑๐ กัณฑ์สักกบรรพ


ความย่อ
กล่าวถึงพระอินทร์ เกรงว่าจะมีผู้มาขอพระนางมัทรีไปอีก จักไม่มีผู้ปรนนิบัติพรเวสสันดร พระโพธิญาณจักเป็นอันตราย จึงได้แปลงเป็นพราหมณ์ชราลงมาขอ เมื่อได้แล้วไม่เอาไป กลับถวายคืนแก่พระเวสสันดร โดยห้ามประทานนางแก่ผู้ใดอีก พร้อมทั้งประสาทพร ๘ ประการ ให้แก่พระเวสสันดร แล้วจึงเสด็จกลับสู่สวรรค์

เนื้อเรื่อง
ขณะนั้นท้าวสหัสนัยบนสวรรค์ เกรงว่าจะมีชายโฉดมาทูลขอพระนางมัทรี จึงจำแลงกายเป็นนักบวชชรามาทูลขอพระนาง พระเวสสันดรทรงยินดีบริจาคทานให้ แต่นักบวชชราเมื่อได้รับแล้วก็ไม่เอาไป กลับถวายคืนแก่พระเวสสันดร โดยห้ามพระองค์ประทานนางแก่ผู้ใดอีก องค์อินทร์ประสาทพรก่อนกลับได้ประสาทพรให้พระเวสสันดร ๘ ประการ คือ
๑. ให้ทรงได้รับอภัยโทษ
๒. ให้ทรงช่วยคนถูกฆ่าได้
๓. ให้ไพร่ฟ้าได้พึ่งพา
๔. ให้มั่นคงในมเหสี ไม่ลุ่มหลงสตรีอื่น
๕. ให้ได้สืบสันติวงศ์
๖. ให้มีสิ่งของบริจาคทานมิสิ้น
๗. ให้มีอาหารทิพย์พอเพียงทุกรุ่งเช้า
๘. ให้ได้สำเร็จพระโพธิญาณ แล้วท้าวสหัสนัยก็เนรมิตรร่างเป็นพระอินทร์เหาะขึ้นฟ้าไปทันที

อานิสงส์
ผู้ใดบูชากัณฑ์สักกบรรพ จะได้เป็นผู้เจริญด้วยลาภยศ ตลอดจนจตุรพิธพรทั้ง ๔ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดกาลฯ

ข้อคิดประจำกัณฑ์
การทำดีแม้ไม่มีคนเห็น ก็เป็นความดีอยู่วันยังค่ำ ดุจทองคำแม้จะอยู่ในตู้โชว์ หรือในกำปั่นก็เป็นทองคำอยู่นั่นเอง เข้าลักษณะว่า ความ(ของ)ดีดีเด็ดเหมือนเพชรเหมือนทอง ถึงไร้เจ้าของก็เหมือนตัวยัง ถึงใส่ตู้อุด ถึงขุดหลุมฝัง ก็มีวันปลั่งอะหลั่งฉั่งชู การทำความดีแม้ไม่มีคนเห็น แต่เทพยดาอารักษ์เบื้องบนท่านย่อมรู้

กัณฑ์ที่ ๑๑ กัณฑ์มหาราช


ความย่อ
กล่าวถึงชูชกได้พาสองกุมารหลงทางไปจนถึงเมืองสีพี จนกระทั่งได้พบกับพระเจ้าปู่พระเจ้าย่า จึงรับสั่งให้ไถ่ถอนตัวทั้งสองพระองค์ และพระราชทานเลี้ยงอาหารชั้นดีแก่ชูชก ชูชกไม่มีวาสนาเพราะบริโภคมากเกินไป เป็นเหตุให้ไฟธาตุพิการอาหารไม่ย่อยจนถึงแก่ความตาย พระเจ้าสญชัยรับสั่งให้เตรียมกองทัพไปรับสองพระองค์

เนื้อเรื่อง
ด้านชูชกเฒ่านั้นฉุดลากสองกุมารน้อยไปพลางทุบตีไปพลาง ด้วยหวังจะกลับไปหาภรรยาโดยเร็ว เมื่อถึงทางแยกเข้าเมืองกลิงคราฐ เทพยดาก็ดลบันดาลให้ชูชกเดินเข้ามาในเมืองสีพีรัฐ พระเจ้ากรุงสัญชัยก็ได้ทรงสุบินประหลาดว่า มีชายอัปลักษณ์นำดอกบัวตูมและดอกบัวบานมาถวายให้ พระองค์รับมาทัดที่พระกรรณแล้วก็ทรงตื่นบรรทม เหล่าโหรก็ถวายคำทำนายว่า พระราชวงศ์ที่จากพลัดไปจะเสด็จคืนวัง  วันรุ่งขึ้นนั้นเฒ่าชูชกจูงกุมารน้อยผ่านหน้าพระลาน พระราชาทรงเฉลียวพระทัย จึงให้เรียกตัวเฒ่าอัปลักษณ์และกุมารน้อย มอมแมมแต่ผิวพรรณเปล่งปลั่งนั้นเข้ามาเฝ้า เมื่อพระราชาสอบถาม ชูชกก็กราบทูลว่าได้รับบริจาคมามิได้ไปฉุดคร่ามาที่ใด พระราชาจึงทรงรู้ว่า ๒ กุมารน้อยนั้นเป็นหลานของพระองค์ จึงทรงไถ่ตัวหลานและพระราชทานรางวัลให้แก่ชูชกมากมาย ทั้งยังจัดอาหารคาวหวานชั้นเลิศมาให้แก่ชูชกอีกด้วย ขอทานเฒ่าไม่เคยเห็นอาหารชั้นดี มีความโลภจะกินให้หมด จึงกินเข้าไปไม่หยุดจนกระทั่งท้องแตกตายไป พระราชาเจ้ากรุงสัญชัยทรงจัดพิธีเวียนเทียนบายศรี สมโภชรับขวัญหลานเป็นที่ยิ่งใหญ่สมเกียรติ ครั้นแล้วก็ทรงถามถึงพระนางมัทรีและพระเวสสันดร ที่จากไปนานเป็นเวลา ๑ ปี ๑๕ วันแล้ว "พระมารดาทรงลำบากเหลือแสนพระเจ้าข้า" ชาลีราชกุมารทูลพระราชาด้วยสุระเสียงกำสรดยิ่งนัก เสด็จคืนเวียงวังพระราชาจึงทรงให้จัดขบวนแต่งกองเกียรติยศ ยกออกนครไปรับพระเวสสันดร กลับสู่เวียงวังด้วยทรงคิดถึงราชบุตรและสำนึกผิดแล้ว

อานิสงส์
ผู้ใดบูชากัณฑ์มหาราชจะได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ เมื่อเกิดเป็นมนุษย์จะได้เป็นพระราชา เมื่อจากโลกมนุษย์ไป ก็จะได้ไปเสวยทิพยสมบัติในฉกามาพจรสวรรค์ มีนางเทพอัปสรเป็นบริวาร ครั้นบารมีแก่กล้าก็จะได้นิพพานสมบัติ อันตัดเสียซึ่งชาติ ชรา พยาธิ มรณะ พ้นจากโอฆะทั้งสามมีกาโมฆะเป็นต้นฯ

ข้อคิดประจำกัณฑ์

คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ย่อมได้รับความปกป้องคุ้มครองภัยในที่ทุกสถาน

กัณฑ์ที่ ๑๒ กัณฑ์ฉกษัตริย์


ความย่อ
กล่าวถึงพระเจ้ากรุงสัญชัยและจตุรงคเสนา เดินทางไปถึงเขาวงกต กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ได้มาพบกันในกลางป่า โดยมิได้คาดฝัน ก็ทรงวิปโยคโศกศัลย์จนถึงวิสัญญีภาพสลบลง ฝนโบกขรพรรษบันดาลตกลงมาให้ทรงฟื้น แล้วพากันขอลุโทษและทูลอาราธนาให้ลาผนวช

เนื้อเรื่อง
การเสด็จพระราชดำเนินของพระเจ้ากรุงสัญชัยและจตุรงคเสนาเป็นขบวนเสด็จ จากรุงเชตุดรนครหลวง ถึงเขาวงกตเป็นระยะทาง ๖๐ โยชน์ เท่ากับ ๙๖๐ กิโลเมตร กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ได้มาพบกันด้วยในกลางป่า โดยมิได้คาดฝัน จึงได้ร่วมเดินทางไปยังเขาวงกตพร้อมกันกองขบวนเกียรติยศ พร้อมมโหรีและไพร่พล ก็เคลื่อนสู่ป่าด้วยเสียงอันกึกก้องลั่นป่า พระเวสสันดรเข้าพระทัยว่า กองในพระราชวังคงจะมาประหารพระองค์ จึงทรงพาพระนางมัทรีไปหลบซ่อนในพุ่มไม้ ครั้นพระเจ้ากรุงสัญชัยบอกความให้ทราบ พระนางมัทรีก็ออกมาถวายบังคม ต่างก็ร่ำไห้ด้วยสลดใจกันถ้วนทั่วในเคราะห์กรรมนี้ แม้บรรดาเสนาอำมาตย์และนางกำนัลต่างก็ร้องไห้กันทั่ว พระราชาตรัสให้พระเวสสันดรลาผนวชกลับคืนสู่เวียงวัง พระนางผุสดีก็ขอให้พระนางมัทรีคืนสู่พระราชวังเถิด พระนางมัทรีได้แต่กันแสงสวมกอดกัณหาพระธิดา และพระโอรสชาลีไว้แนบอกด้วยทรงคิดถึงยิ่ง บริเวณป่าเต็มไปด้วยเสียงคร่ำครวญระงมจนหมดสติไปทั้งสิ้น พระอินทร์บนสรวงสวรรค์เล็งทิพยเนตรเห็นดังนั้น จึงทรงบันดาลสายฝนให้โปรยปรายเป็นอัศจรรย์ ในป่าชุ่มชื้นด้วยในโบกขรพรรษที่มิสาดให้ผู้ใดเปียกปอน บรรดาพระราชวงศ์ก็ทรงฟื้นขึ้นมาด้วยความแช่มชื่นปราโมทย์ หลังจากนั้นได้ขอลุแก่โทษและทูลอาราธนาให้พระเวสสันดรทรงลาผนวช

อานิสงส์
ผู้ใดบูชากัณฑ์ฉกษัตริย์ จะได้เป็นผู้เจริญด้วยพร ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ทุก ๆ ชาติแลฯ

ข้อคิดประจำกัณฑ์
๑. พรากมีวันพบ จากมีวันเจอ จากกันยามเป็นได้เห็นน้ำใจจากกันยามตายได้เห็นน้ำตา
๒. การให้อภัยเป็นเพราะได้สำนึกเป็นเหตุให้ลบรอยร้าวฉานบันดาลสันติสุขแก่ส่วนรวม
๓. สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้ผิด บรรพชิตยังรู้เผลอ ความผิดพลาดเป็นเรื่องของมนุษย์ แต่การให้อภัยเป็นวิสัยของเทวดา

กัณฑ์ที่ ๑๓ นครกัณฑ์


ความย่อ
กล่าวถึงพระเวสสันดรเมื่อลาผนวชแล้ว ทรงสั่งลาพระอาศรม รับพระราชทานเครื่องทรงกษัตริย์ แล้วเสด็จกลับไปครองเมืองสีพี ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขจนพระชนมายุ ๑๒๐ พรรษา จึงสวรรคตแล้วไปปรากฏอุบัติเป็นท้าวสันดุสิตเทพบุตร บนสวรรค์ชั้นดุสิต 


เนื้อเรื่อง
เมื่อทรงลาผนวชแล้ว ทรงสั่งลาพระอาศรม รับเครื่องทรงกษัตริย์ แล้วเสด็จกลับไปครองเมืองสีพีพระเวสสันดรเสด็จขึ้นครองราชย์ครองแผ่นดิน ทำให้ไพร่ฟ้าเสนาอำมาตย์มีสุขสงบกันทั่วทั้งแคว้น ชาวเมืองต่างก็หมั่นถือศีลบำเพ็ญกุศลตามสัตย์อธิษฐานของพระเวสสันดร กษัตริย์เมืองกลิงคราฐก็นำช้างปัจจัยนาเคนทร์มาถวายคืน เพราะบ้านเมืองมีฝนตกต้องตามฤดูกาลแล้ว พระเวสสันดรก็ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม และยังคงทรงบริจาคทาน จนพระชนมายุได้ ๑๒๐ พรรษาจึงสวรรคตแล้วไปปรากฎอุบัติเป็นท้าวสันดุสิตเทพบุตร บนสวรรค์ชั้นดุสิตรวมระยะเวลาที่พระเวสสันดร มัทรี ชาลี กัณหา 
ต้องนิราศจากพระนครไปอยู่ป่า เป็นเวลา ๑ ปี ๑๕ วัน

อานิสงส์
ผู้ใดบูชากัณฑ์นครกัณฑ์ จะได้เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยวงศาคณาญาติ ข้าทาสชายหญิง ธิดาสามี หรือบิดามารดาเป็นต้น อยู่พร้อมหน้ากันโดยความผาสุก ปราศจากโรคาพาธทั้งปวง จะทำการใด ๆ ก็พร้อมเพรียงกัน ยังการงานนั้น ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ข้อคิดประจำกัณฑ์
การทำความดี ย่อมได้รับผลดีตอบแทน การใช้ธรรมะในการปกครองย่อมทำให้เกิดความสงบร่มเย็น

ข้อคิดประจำชาดก
ชาดกเรื่องนี้มีคติธรรม สั่งสอนให้คนเราเพียรประกอบคุณงามความดีโดยมิท้อถอย หากรู้จักสละทรัพย์บริจาคทานเนื่องนิจก็จะเป็นที่สรรเสริญทั่วไป คนโลภคนจิตบาปหยาบร้ายก็ต้องได้ภัยเพราะตัวเอง ดั่งชูชกนั้นเอง